วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผลไม้ไทย

[แก้] ไม้ผลทางเศรษฐกิจของไทย




ลำไย - มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนใต้ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2547 มีพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ 938,033 ไร่ ผลผลิต 868,022.93 ตัน ผลผลิตลำไยส่วนใหญ่บริโภคภายในประเทศ ประเทศไทยส่งออกลำไยสดปริมาณ 133,646 ตัน ลำไยแช่แข็งส่งออก 787 ตัน และลำไยแห้งส่งออก 94,774 ตัน
ทุเรียน - มีถิ่นกำเนิดในสุมาตรา จัดเป็นไม้ผลเศรษฐกิจของประเทศไทย มีการปลูกแทบทุกภาค แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ นอกจากบริโภคภายในประเทศแล้วยังมีการส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีน, ฮ่องกงและไต้หวัน ทุเรียนแช่แข็งส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และทุเรียนกวนส่งไปยังประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย
มังคุด - มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมาลายู ประเทศไทยมีศักยภาพในการส่งออกสูง เนื่องจากรสชาติเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไป มีการปลูกมากทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศ ประเทศไทยส่งออกมังคุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีการนำเข้ามังคุด ได้แก่ จีน, ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกมังคุดแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่น
ลิ้นจี่ - เป็นไม้ผลกึ่งเมืองร้อนกึ่งเมืองหนาว มีถิ่นกำเนิดที่เมืองกวางดองและฟูเจียนทางตอนใต้ของประเทศจีนและมีหลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ฮงฮวย, พันธุ์โอวเฮียะ, พันธุ์กิมเจ็งและพันธุ์จักรพรรดิเป็นต้น ประเทศไทยมีการปลูกมากที่สุดในภาคเหนือ มีการส่งออกทั้งลิ้นจี่สดและลิ้นจี่กระป๋อง ประเทศคู่ค้าสำคัญที่ไทยส่งออกลิ้นจี่สูงที่สุดได้แก่ มาเลเซีย รองลงมาคือ สิงคโปร์และฮ่องกง ตามลำดับ
มะม่วง - เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดในอินโดจีน - พม่า และในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการปลูกทุกภาคของประเทศไทย มีการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกต่างประเทศมีทั้งในรูปผลไม้สดและแปรรูป โดยพันธุ์ที่มีศักยภาพในการส่งออกได้แก่ น้ำดอกไม้สีทอง, น้ำดอกไม้มหาชนก และโชคอนันต์
ส้มโอ - เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดทางเกาะมลายูและหมู่เกาะโปลินีเซีย มีศักยภาพการส่งออกสูง มีลักษณะเด่นคือรสชาติดีและผลสามารถเก็บรักษาได้นาน ประเทศผู้นำเข้าส้มโอจากประเทศไทยที่สำคัญ ได้แก่ แคนนาดา, จีน, เนเธอแลนด์และฮ่องกง
เงาะ - เป็นไม้ผลเขตร้อนของเอเชียมีถิ่นกำเนิดแถบหมู่เกาะมลายู ต่อมาได้กระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สิงคโปร์, ไทย, พม่า รวมทั้งประเทศในแถบอเมริกากลาง พื้นที่ปลูกเงาะในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกและรองลงมาคือภาคใต้ ตลาดหลักที่สำคัญคือตลาดภายในประเทศ มีการส่งออกเงาะในรูปแบบผลไม้สดและผลไม้กระป๋องสอดไส้สับปะรดในน้ำเชื่อม
สับปะรด - เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้และบริเวณตอนกลางและตอนใต้ของประเทศบราซิล สับปะรดเป็นพืชที่ทำรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยประเทศไทยส่งออกสับปะรดสดและผลิตภัณฑ์สับปะรด ทั้งสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก
มะพร้าวน้ำหอม - เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวน้ำหอมประเทศเดียวในโลก มีการส่งออกในรูปผลอ่อนไปยังต่างประเทศ โดยประเทศนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง, ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ และมีแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
มะขาม - เป็นไม้ผลที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย มะขามในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ
มะขามหวาน - มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และแอฟริกาตะวันออก พันธุ์มะขามหวานในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์สีทอง, พันธุ์ศรีชมพู, พันธุ์ขันตี, พันธุ์อินทผลัมและพันธุ์ประกายทอง
มะขามเปรี้ยว - มีถิ่นกำเนิดแถบร้อนของทวีปแอฟริกา พันธุ์มะขามเปรี้ยวในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์ฝักโตและพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรคือ พันธุ์ศรีสะเกษ 019
ในส่วนของการส่งเสริมวิชาชีพเกษตรของวิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วทั้งประเทศไทยก็ได้มีการส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่และมีการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตเกษตรกรไม้ผลที่มีคุณภาพ


อ้างอิง
เอกสารวิชาการงานราชพฤกษ์ 2549:กรมวิชาการ “ไม้ผลเมืองไทย”
ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%9C%E0%B8%A5".

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น