วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การป้องกันโรค

โรครวมถึงการประเมินและการรักษาเฉพาะ เพื่อจัดความก้าวหน้าของโรคในทุกระยะ (Edelman Mandle. 1994 : 15)
การป้องกันโรคแบ่งได้เป็น 3 ดับ ดังนี้
1. การป้องกันโรคระดับแรก (Primary prevention) หมายถึง การส่งเสริมสุขภาพโดยทั่วไปรวมถึงการปกป้องและต่อต้านการเกิดเฉพาะโรค ได้แก่ การให้สุขศึกษา การรับประทานอาหารเหมาะสมตามวัย การพัฒนาบุคลิกภาพ การทำงาน การพักผ่อน และนันทนาการอย่างเหมาะสม การได้รับคำปรึกษากับการแต่งงานและเรื่องเพศ การคัดกรองพันธุกรรม การตรวจสุขภาพ
2. การป้องกันโรคระดับที่สอง (Secondary prevention) หมายถึง การได้รับการวินิจฉัยในระยะแรกของโรคแปละได้รับการรักษาทันท่วงที ความรุนแรงของโรคที่เป็นมีระยะเวลาสั้นสามารถกลับสู่สภาวะของการมีสุขภาพดีได้อย่างรวดเร็ว
3. การป้องกันโรคระดับที่สาม (Tertiary pervention) เป็นระดับที่ไม่เพียงแต่หยุดการดำเนินของโรคเท่านั้น แต่จะต้องป้องกันความเสื่อมสมรรถภาพอย่างสมบูรณ์ จุดประสงค์ก็คือให้กลับสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันโรคเป็นอย่างยิ่ง โดยใน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 500,000 บาท เพื่อใช้สร้างอาคาร “มหิดลวงศานุสรณ์” (ภาพประกอบ 3.2) ในบริเวณสถานเสาวภา สำหรับใช้ในกิจการทางด้านวิทยาศาสตร์และผิตวัคซีน บี ซี จี เพื่อปป้องกันวัณโรค ซึ่งผู้คนขณะนั้นประสบปัญหาจากวัณโรคอย่างร้ายแรง
เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับวัณโรคมากยิ่งขึ้น จึงขอกล่าวถึงรายละเอียดของวัณโรค ดังนี้
วัณโรค (Tuberculosis)
วัณโรคเป็นโรคติดต่อ ที่ยังเป็นปัญหาของประเทศไทยเรา และประเทศด้อวยพัฒนาอีกหลายประเทศ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมียารักษาที่มีประสิทธิภาพสูงก็ตาม แต่เมื่ออัตราการเป็นเอดส์ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ก็ย่อมทำให้อัตราการเป็นวัณโรคเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากผู้ป่วยเอดส์มีความบกพร่องของภูมิคุ้มกันจึงติดเชื้อโรคได้ง่ายและขณะนี้กำลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคที่มีความต้านทานต่อยาสูง ซึ่งมักเกิดร่วมกับการติดเชื้อโรคเอดส์
สาเหตุ
วัณโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Tubercle bacilli ซึ่งประกอบด้วย Mycobacterium Tuberculosis, Mycobacterium Bovis, Mycobacterium Africanum ที่ทำให้เกิดโรคในคนเกือบทั้งหมด คือ Mycobaterium Tuberculosis
เชื้อวัณโรคสามารถล่องลอยอยูในอากาศได้เป็นเวลานาน ในบริเวณชื้น อับแสง เชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้เป็นเดือน แต่ถ้าถูกแสดงแดดโดยตรง เชื้อจะตายภายใน 2 – 3 ชั่วโมง และสามารถใช้แอลกอฮอล์ 70% ฆ่าเชื้อโรคได้ภายใน 10 นาที
วิธีการติดต่อ
การติดต่อได้ง่ายที่สุดและพบได้บ่อย คือ การติดต่อโดยทางเดินหายใจ เมื่อผู้ป่วยไอจามหรือหัวเราะ จะปล่อยเชื้อออกมาล่องลอยในอากาศกับฝอยน้ำลาย เมื่อมีผู้สูดหายใจเข้าไปในถุงลมจะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบขึ้น ส่วนการติดต่อทางการรับประทาน ทางบาดแผล และทางอวัยวะสืบพันธุ์พบน้อยมาก แหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญคือ ผู้ป่วยวัณโรคที่ตรวจพบเชื้อในเสมหะ
อาการและอาการแสดง
ก. อาการและอาการแสดงทั่วไปที่พบบ่อย
ผู้ป่วยอาจมีไข้สูงหรือต่ำก็ได้ และอาจเป็นตลอดวันหรือไข้ตอนกลางคืน อาการไข้มักจะเป็นเกินสองสัปดาห์ มักมีอาการไอร่วมด้วย หรือบางครั้งอาจไม่มีไอ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ซูบซีด ซึ่งมักพบในรายที่โรคเป็นระยะลุกลาม
ข. อาการเฉพาะระบบ
อาการที่เกิดขึ้นแล้วแต่จะเกิดกับระบบใดของร่างกาย ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง ทางเดินปัสสาวะ กระดูกและข้อ เยื่อหุ้มสมอง ระบบทางเดินอาหาร
สำหรับวัณโรคปอดซึ่งพบบ่อย อาการที่พบ คือ ไอเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ 50-70 % มีไอเป็นเลือด ในรายที่เลือดออกมาก ๆ เกิดจากการแตกของหลอดเลือดแดง ที่อยู่บนผนังโพรงแผล ถ้าเยื้อหุ้มปอดอักเสบมักจะมีอาการเจ็บหน้าอก หรือถ้าเกิดน้ำที่ช่องเยื่อหุ้มปอดจะมีอาการแน่นหน้าอก
วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง มีอาการปวดศรีษะ อาเจียน ตึงต้นคอ
วัณโรคกระดูกสันหลัง มีอาการปวดกระดูก ปวดหลัง เป็นมากในเวลากลางคืน
วัณโรคระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดิน ซึ่งมักพบรอยโรคในปอดด้วย
การวินิจฉัย
การวินิจฉัยโรค อาศัยลักษณะหลายอย่างประกอบด้วย ดังนี้
ลักษณะทางคลินิก
การตรวจเสมหะ
การตรวจโดยการเอ็กซเรย์ทรวงอก
การทดสอบทูเบอร์คูลิน
การตรวจโดยวิธีอื่น ๆ เช่น การตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิ การเจาะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด และการตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มปอดตรวจ
การรักษา
หลักการรักษาที่สำคัญ มีดังนี้
ต้องได้รับประทานยาอย่าต่ำสองขนาน เพื่อป้องกันการดื้อยา
ต้องได้รับยาสม่ำเสมอ และนานพอ เพื่องป้องกันการกลับเป็นใหม่
รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าแก่ร่างกาย ได้รับการพักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ปัจจุบันนี้มียาหลายขนาน ซึ่งจัดออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ คือ (มาลี เซ็นเสถียร. 2535 : 88)
ยาหลักในการรักษามี 6 ขนาน คือ ไอโซไนอะซิค (Isoniazid) ไรแอมพิซิน (Riampicin) สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) ไพราซินาไมต์ (Pyrazinamide) มีแธมบูทอล (Ethambutal) ธัยอะเซทาโซน (Thiacetazone)
ยาสำรอง ใช้ในกรณีเชื้อดื้อยาหลัก ได้แก่ คานามัยซิน (Kanamycin) เอทธิโอนาไมด์ (Ethionamide) ไซโคลซีริน (Cycloserine)
การป้องกัน
ถึงแม้จะมียารักษาวัรโรคที่มีประสิทธิภาพก็ตามวัณโรคยังเป็นปัญหาสำคัญทางการสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และขณะนี้สามารถระบาดได้ในทุกสภาพภูมิประเทศทั่วโลก ไม่แต่เฉพาะที่ชื้น อับแสง และแออัดเท่านั้น
หลักการทั่วไปของการป้องกัน
ให้ภูมิคุ้มกัน โดยฉีดวัคซีน บี ซี จี (B C G = Bacillus Calmette - Gruerin) ควรฉีดตั้งแต่แรกเกิด ผู้ที่ได้รับวัคซีน จะมีความต้านทานโรคได้สูงกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ระยะเวลาคุ้มกันในร่างกายไม่แน่นอน จากการศึกษาพบหลังอายุ 10 ปี ภูมิคุ้มกันจะลดลงประมาณร้อยละ 50 ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีนซ้ำเมื่ออายุ 7 – 8 ปี
การให้ยาต้านวัณโรคในคนที่ยังไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน เช่ย เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยวัณโรคระยะติดต่อ แพทย์ พยาบาล และบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคระยะติดต่อ
โรคคอพอก (Endermic goiter)
โรคคอพอก เป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญยิ่งโรคหนึ่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการรณรงค์ควบคุมโรคคอพอกเนื่องจากการขาดไอโอดีน รวมทั้งได้มีการจัดตั้งระบบเฝ้าระวังโรคคอพอกตั้งแต่ พ.ศ. 2532 โดยใช้อัตราคอพอกในนักเรียนประถมการศึกษาเป็นดัชนีชี้วัด ผลจากการสำรวจอัตราโรคคอพอกพบว่า ในภาพรวมระดับประเทศอัตราโรคคอพอกมีร้อยละ 4.29 ใน พ.ศ. 2539 (กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ม.ป.ป. : 73)
เส้นทางเกลือ
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพบว่าราษฎรแถบภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดโรคคอพอก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรวงห่วงใยในปัญหาการขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะกำจัดโรคนี้ให้หมดไปจากคนไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริว่า …ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาของการขาดไอโอดีนของราษฎร โดยการสำรวจพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ถึงปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะต้องสำรวจเส้นทางเกลือว่าผลิตมาจากแหล่งใด ก็น่าที่จะนำเอาไอโอดีนไปผสมกับแหล่งผลิตต้นทางเกลือเลยทีเดียว…”
วิธีการดำเนินการตามแนวพระราชดำริ “เส้นทางเกลือ” มีดังนี้
ศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีน โดยการค้นหา “เส้นทางเกือ” ตั้งแต่แหล่งผลิต (ภาพประกอบ 3.3) จนถึงผู้บริโภค
นำไอโอดีนไปผสมที่แหล่งผลิตหรือแหล่งจัดจำหน่าย โดยเติมให้ฟรีก่อน หากภายหลังพ่อค้าและภาคเอกชนเกิดศรัทธาก็สามารถทำเองได้
ในบางท้องที่ที่ไม่อาจเติมไอโอดีนที่แหล่งผลิตได้ ทรงแนะนำให้นำเครื่องผสมเกลือไอโอดีน (ภาพประกอบ 3.4) ไปบริการในลักษณะหน่วยบริการเคลื่อนที่เข้าไปสู่หมู่บ้านต่าง ๆ ใครมีเกลืออยู่แล้วก็ผสมให้ฟรี หรืออาจเอาเกลือธรรมดากับเกลือผสมไอโอดีนก็ได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดให้ใช้อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอต้นแบบในการศึกษาแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนว่ามี “เส้นทางเกลือ” มาจากแหล่งใด
กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้กลยุทธหลักในการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคคอพอก โดยวิธีให้ประชาชนได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอและต่อเนื่องจากเกลือไอโอดีน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 153/2537 กำหนดให้เกลือบริโภคทุกชนิดต้องมีไอโอดีนไม่น้อยกว่า 30 ส่วนในเกลือ 1 ล้านส่วน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่กันยายน พ.ศ. 2537 ซึ่งเป็นกลยุทธที่สอดคล้องกับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในวันที่ 1 เมษายน 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เพื่อพระราชทานวโรกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและเลขาธิการสภากาชาดไทยนำผู้ค้าเกลือและผู้มีจิตศรัทธาเข้าน้อมเกล้า ฯ ถวายเกลือเสริมไอโอดีน 2,419 ตัน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วประเทศ
เพื่อให้เข้าใจถึงการขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคคอพอกที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากร จึงขอกล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของโรคคอพอก ดังนี้
สาเหตุ
โรคคอพอก เป็นโรคที่ต่อมธัยรอยด์ที่คอโตผิดปกติ เกิดจากการขาดไอโอดีน ซึ่งเป็นสารที่จำเป็นต่อการสร้างฮอร์โมนไธร้อกซิน (thyroxin) ของต่อมธัยรอยด์ (Thyroid) ในภาวะที่มีการขาดไอโอดีนการสร้างไธร้อกซินจะลดลงเป็นผลให้ต่อมพิทูอิทารี (Prtuitary gland) ในสมองหลั่ง ธัยรอยด์ สติมูเลติง ฮอร์โมน (Thyroid stimulating hormone : TSH) มากขึ้น พร้อมกันนี้นก็มีการเพิ่มจำนวนเซลล์ เพื่อขยายขนาดของต่อมธัยรอยด์ให้เพิ่มความสามารถในการจับไอโอดีน จึงทำให้เป็นคอพอก
อาการและอาการแสดง
ต่อมธัยรอยด์ ซึ่งอยู่สองข้างของของหลอดลมมีขนาดโตขึ้น ในบางรายที่ต่อมโตมากจะทำให้กลืนอาหารและหายใจลำบาก
ในชุมชนที่มีการระบาดของโรคคอพอกสูงจะพบว่ามีอุบัติการณ์ของการเป็นใบ้หูหนวกแต่กำเนิด (Deaf – mutism) ร่างกายเตี้ยแคระและปัญญาอ่อน (Cretinism) ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “โรคเอ๋อ” ในอัตราที่สูงกว่าปกติ
สำหรับอาการแสดงของคอพอกแบ่งออกได้เป็นระดับตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโรค WHO ดังนี้
ระดับ ลักษณะ
0 ต่อมธัยรอยด์ปกติซึ่งจะมองไม่เห็นและถ้าคลำดู 2 ข้างหลอดลมจะมีขนาดไม่เกินนิ้วหัวแม่มือของเจ้าของ เมื่อเงยศรีษะขึ้นมองไม่เห็นว่ามีก้อนโตอยู่หน้าลำคอ
1 ต่อมธัยรอยด์มีขนาดโตคลำพบว่าใหญ่เกินนิ้วหัวแม่มือเมื่อเงยศรีษะไปด้านหลังเต็มที่จะเห็นว่าต่อมมีขนาดโตได้ชัดเจน
2 ต่อมธัยรอยด์โตจนสามารถมองเห็นได้แมื่อยู่ในทาปกติ และไม่จำเป็นต้องอาศัยการคลำ
3 ต่อมธัยรอยด์มีขนาดโตมากจนมองเห็นได้ตั้งแต่ในระยะไกล

การรักษา
โดยการให้เกลือไอโอดีนปรุงอาหาร ถ้าคอพอกโตมากอาจต้องใช้ยาหรือผ่าตัดออก หรือในรายคอพอกโตไปเบียดและกดหลอดลม หลอดอาหาร ทำให้กลืนลำบากหายใจไม่สะดวกก็ต้องรักษาโดยการผ่าตัด
การป้องกัน
วิธีการที่ใช้ในการป้องกันโรคคอพอกโดยการเพิ่มปริมาณไอโอดีนในอาหารให้เท่ากับระดับความต้องการของร่างกาย คือ 100 – 150 ไมโครกรัม ต่อวันสำหรับผู้ใหญ่การป้องกันที่ได้ผลดี มีดังนี้ คือ
การเติมเกลือไอโอไดด์ ไอโอเดตลงในเกลือแกงที่เรียกว่า เกลือไอโอดีน หรือ เกลืออนามัย ซึ่งมีแพร่หลายทั่วไปในปัจจุบัน (ภาพประกอบ 3.5)
การรับประทานยาเม็ดที่มีโปแทสเซียมไอโอไดด์ 10 มิลลิกรัม เป็นระยะ ๆ สม่ำเสมอ
การรับประทานอาหารทะเล
การป้องกันที่สำคัญอีกทางหนึ่งก็คือให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ได้รับไอโอดีนเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันการคลอดลูกที่เป็นครีตีนนิสซึม (Cretinism) หรือโรคเอ๋อ
โรคเรื้อน (Leprosy)
โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อที่เก่าแก่ ดังจะเห็นที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์ทั้งของชาติและศาสนาต่าง ๆ ในสมัยโบราณ ผู้ป่วยโรคเรื้อนจะถูกแยกออกจากสังคม เพราะเป็นโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ เนื่องจากบาดแผลและความพิการ
สถาบันราชประชาสมาสัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อน เมื่อ พ.ศ. 2499 โรคเรื้อนได้ระบาดในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกได้ตกลงร่วมกันว่าจะพยายามขจัดโรคเรื้อนให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยในระยะเวลา 12 ปี และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าจะกำจัดโรคเรื้อนให้หมดไปภายในระยะเวลา 10 ปีได้ ถ้ามีสถาบันค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อนซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์ 1 ล้านบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ก่อสร้างสถาบันวิจัยค้นคว้าเรื่องโรคเรื้อน ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในพ.ศ. 2501 และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่16 มกราคม 2503 พระราชทานนามสถาบันว่า “ราชประชาสมาสัย” รวมทั้งพระราชทานเงินทุนที่เหลือจากการก่อสร้างให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของสถาบันต่อไป
โรคเรื้อนเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้ แต่เป็นโรคที่มีการทำลายเส้นประสาทส่วนปลายร่วมด้วย จึงมีผลทำให้เกิดความพิการติดตามมา ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของบุคคลที่เป็นโรคเรื้อนอย่างยิ่ง เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเรื้อนให้ดียิ่งขึ้นจึงขอกล่าวถึงรายละเอียด ดังนี้
สาเหตุ
ในปี พ.ศ. 2416 นายแพทย์ จี. เอช. อามัวร์ เฮนเซน (G.H. Amaer Hansen) เป็นผู้ค้นพบว่า โรคเรื้อนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ ไมโคแบคทีเรียม เลพแพร (Mycobacterium leprae)
การติดต่อ
โรคเรื้อนสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ โดยเชื้อโรคเรื้อนจากร่างกายของผู้ป่วยจะเข้าสู่ร่างกายของผู้รับได้สองทางคือ
1. ทางผิวหนัง
2. ทางระบบทางเดินหายใจ
ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเรื้อนมากที่สุด ได้แก่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่โรคเรื้อนเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic area) และผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยโรคเรื้อนชนิดเชื้อมากหรือผู้ที่สัมผัสโรคกับผู้ป่วยหลายราย โดยการสัมผัสนั้นเป็นอย่างใกล้ชิดและเป็นเวลานาน ทั้งนี้ผู้ป่วยรายใดก็ตามที่ยังตรวจพบเชื้อโรคเรื้อนที่มีชีวิตก็สามารถแพร่เชื้อได้
การวินัจฉัยโรค
ในการวินัจฉัยว่าผู้ใดเป็นโรคเรื้อนหรือไม่นั้น องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวถึงอาการสำคัญที่แสดงว่าผู้นั้นเป็นโรคเรื้อนโดยดูจากหนึ่งในสองอาการต่อไปนี้
มีรอยโรคอันเป็นลักษณะของโรคเรื้อนอยู่บนผิวหนัง และชาบริเวณรอยโรคนั้น
ตรวจพบเชื้อโรคเรื้อนจากผิวหนัง
อาการและอาการแสดง
อาการทั่วไป แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการดังนี้
อาการทางผิวหนัง ผิวหนังจะเป็นวงด่างสีขาวหรือวงด่างสีแดง ผิวหนังนูนแดงหนา
อาการทางประสาท อาการที่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับเส้นประสาทส่วนใดของเส้นประสาทส่วนปลาย (Pheripheral nerve) ถูกทำลาย เช่น
เส้นประสาทรับความรู้สึก (Sensory nerve) ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะมีอาการช้าไม่รู้สึกร้อนเย็น
เส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อ (Motor nerve) ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะมีอาการของกล้ามเนื้ออ่อนกำลัง กล้ามเนื้อสั่น โดยเฉพาะบริเวณมือ ซึ่งต่อไปจะเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อนิ้วมือ จะงอหยิกจีบ หรือทำไม่ได้ ข้อมือตก เดินเท้าตกและเป็นอัมพาตของใบหน้า
เส้นประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervce) ถูกทำลาย มีอาการผิวหนังแห้ง เหงื่อไม่ออก ขนร่วง เส้นเลือดตีบ ทำให้ผิวหนังขาดเลือดไปเลี้ยง ผิวหนังตามปลายเท้าแห้งด้านแข็ง เป็นแผลเนื้อตายได้
นอกจากนี้เมื่อเส้นประสาทที่ถูกทำลายโดยการอักเสบ ภายหลังจะมีเยื่อพังผืดมาแทนที่ทำให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นจนสามารถคลำได้
3. อาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยมีอาการเยื่อบุจมูกบวม อักเสบ ทำให้คัดจมูก มีแผลในจมูก ในที่สุดทำให้ดั้งจมูกยุบ ถ้าไม่ได้รับการรักษาาจะทำให้หายใจลำบากและเสียงแหบได้
อาการอื่น ๆ
อาการอื่น ๆ ที่พบได้ มีดังนี้
ต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้
ขนคิ้วร่วงโดยเริ่มจากด้านข้างก่อน
โลหิตจาง ถ้าเชื้อลุกลามไปถึงไขกระดูก
อัณฑะอักเสบ
หลับตาไม่ได้ ทำให้เกิดแผลที่ตาดำซึ่งทำให้ตาบอดได้
เยื่อบุช่องปากนูนหนาเป็นตุ่มบวม และแตกเป็นแผล
การรักษา
โรคเรื้อนเป็นโรคที่มีลักษณะอาการหลายกลุ่ม เพื่อประโยชน์ในการรักษา จึงแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
โรคเรื้อนประเภทเชื้อน้อย มักตรวจไม่พบเชื้อ การรักษาใช้การรักษาด้วยยา 2 ชนิด ได้แก่ ไรแพมพิซิน (Rifampicin) และแดปโซน (Dapsone) ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 6 เดือน
โรคเรื้อนประเภทเชื้อมาก มักตรวจพบเชื้อ การรักษาใช้การรักษาด้วยยา 3 ชนิด ได้แก่ ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) แดปโซน (Dapsone) และคลอฟาซิมิน (Clofazimine) ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 ปี
การป้องกัน
โดยการดำเนินการค้นหาผู้ป่วยและให้การรักษาโดยเร็วที่สุด และให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันความพิการ และการแพร่กระจายของเชื้อโรค


http://www.swu.ac.th/royal/book6/b6c3t2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น