วันพุธที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2553

ผุ้ออกกฏหมาย

เกิดจาก กลไกตลาด ?
Mon, 20/04/2009 - 10:38 — รุจ ธนรักษ์


อัลฟองโซ เกเบรียล อัล คาโปน - คือชื่อเต็มของ “อัล คาโปน” มาเฟียอเมริกันที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ เรื่องราวประวัติชีวิตของ อัล คาโปน ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อมตะชื่อ Scarface (1932) ตามชื่อ “ไอ้หน้าบาก” ซึ่งเป็นชื่อเล่นในของเขา และเรื่องราวการไล่ล่าตามจับกุมเขามาลงโทษ ก็ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Untouchable (1987)



แม้ท้ายสุดแล้วเขากลายเป็นนักโทษในเรือนจำ “อัลคาทราซ” ตั้งแต่ปี 1932 แต่เรื่องราวชีวิตของ อัล คาโปน กลับมีอิทธิพลต่อเนื่องมาตลอด เขาเป็นมาเฟีย “เซเลบ” (Celebrity) คนดังที่สาธารณะชนให้ความสนใจ เกร็ดชีวิตของเขากลายเป็นเรื่องราวในบทความ หนังสือ หรือนวนิยายมากมาย แม้กระทั่งบุคลิก อุปนิสัยส่วนตัว รูปร่าง หรือกระทั่งรสนิยมการแต่งกาย ก็ยังกลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้กับแวดวงภาพยนตร์ การ์ตูน หรือกระทั่งวรรณร่วมสมัยอยู่ทุกครั้งเมื่อมีการพูดถึง “มาเฟีย”




เราถูกทำให้เชื่อราวกับว่ามาเฟียอิตาเลียน-อเมริกันทุกคน มีบุคลิก การแต่งกาย นิสัย สำเนียงพูด เหมือน อัล คาโปน หมดทุกคน จนอาจกล่าวได้ว่า อัล คาโปน ได้กลายเป็นไอคอน (Icon) ของวัฒนธรรมสาธารณะ (Pop Culture) ในอเมริกาไปเสียแล้ว ล่าสุด เรื่องราวมาเฟียชิคาโกในแบบฉบับ “อัล คาโปน” ที่พวกเราได้เห็นกัน ก็อยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Bat Man: The Dark Knight



อัล คาโปน โด่งดังในฐานะหัวหน้ามาเฟียผู้สามารถควบคุมเมืองใหญ่อย่าง “ชิคาโก” ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากนั้นยังแผ่ขยายอำนาจกว้างไกลไปถึงเมืองในฝั่งตะวันตกของสหรัฐ ในสมัยนั้นอาจเรียก อัล คาโปน ได้ว่าเป็น “ผู้มีบารมีนอกกฏหมาย” ตัวจริง - ชนิดที่ไม่ต้องให้ใครโฟนอินมายืนยัน



เส้นทางชีวิตสายมาเฟียของ อัล คาโปน เริ่มต้นที่บ้านเกิดในกรุงนิวยอร์ก เขาไต่เต้าจากมาเฟียระดับหางแถวขึ้นมาจนสามารถลืมตาอ้าปาก สร้างฐานะ และมีครอบครัวของตนเองได้ จนเมื่ออายุ 22 ปีเขาตัดสินใจพาครอบครัวย้ายไปอยู่แถบชานเมืองชิคาโกตามคำชักชวนของเจ้านาย เพื่อแสวงหา “โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ” เกี่ยวกับการขายสินค้าผิดกฏหมาย



เลือด ปืน ฆาตกรรม และความรุนแรง - ชีิวิตของคาโปนในชิคาโกไม่ต่างจากสูตรแนวทางชีวิตของมาเฟียที่เราคุ้นเคย หลังจากย้ายเข้ามาชิคาโกเพียง 3 ปี เมื่อเจ้านายเก่าตัดสินใจย้ายกลับอิตาลี เขาเข้ารับช่วงต่อและใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีจากนั้นขยายอาณาจักรมาเฟียจนยิ่งใหญ่คับเมือง


อาณาจักรมาเฟียอันยิ่งใหญ่ของ อัล คาโปน มีฐานจากธุรกิจผิดกฏหมายอันหลากหลาย ว่ากันว่าในช่วงเฟื่องฟู (1925-1930) เขามีรายได้กว่า 100 ล้านเหรียญ​ต่อปี ซึ่งนับว่ามหาศาลมากในยุคนั้น และมากพอที่ทำให้เขามีเงิน “เลี้ยงดู ปูเสื่อ” เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ต้องการ เพราะแท็กติกสำคัญที่ อัล คาโปน (และผู้มีบารมีแทบทุกคนในโลก) นิยมใช้ในการต่อสู้กับกฏหมายเพื่อแผ่ขยายอำนาจมืดของตนคือการ “ติดสินบน”



เครือข่ายผลประโยชน์ของ อัล คาโปน แพร่หลายอย่างกว้างขวางในยุคที่เขาเรืองอำนาจ เจ้าหน้าที่แทบทุกคนในเมืองชิคาโกล้วนเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของเขาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นักการเมืองทุกระดับชั้น ผู้พิพากษา หรือกระทั่งนายกเทศมนตรี แทบทุกคนกลายสภาพเป็น​ “คนของคาโปน” กันทั้งนั้น คล้ายกับ “ระบอบ ...” อะไรบางอย่างที่พบในประเทศแถบตะวันออกเฉียงใต้ ในอีก 70 กว่าปีต่อมา



แม้ “พอร์ต” ธุรกิจของ อัล คาโปน จะมีมากมายกระจายความเสี่ยงไปทั่วตั้งแต่การพนัน โสเภณี ไปจนถึงการตามทวงหนี้ แต่แหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดที่ทำให้อาณาจักรมาเฟียของเขาเติบโตขึ้นมาได้นั้นคือ “การค้าเหล้าเถื่อน”





................







ย้อนกลับไป 10 ปีก่อนที่เด็กชาย อัล คาโปน จะถือกำเนิดที่กรุงนิวยอร์ก สังคมสหรัฐในช่วงปี 1890-1920 อยู่ช่วงที่เรียกกันว่า “ยุคก้าวหน้า” (Progressive Era) สังคมสหรัฐในยุคนี้กำลังพบกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆมากมายทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม มีการ “ปฏิรูป” (Reform) ที่สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นในยุคนี้ เช่น การปฏิรูประบบภาษี การเลือกตั้งวุฒิสภาโดยตรง สิทธิทางการเมืองของสตรี



และหนึ่งในการปฏิรูปที่สำคัญคือการปฏิรูปทาง “จริยธรรม” ซึ่งคือต้นกำเนิดของแนวความคิดห้ามผลิตและซื้อขายสุราในสหรัฐ หรือที่เรียกกันว่า Prohibition



Prohibition คึือขบวนการทางสังคมของคนกลุ่ม “จารีตนิยม” ในสหรัฐฯที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 1840 เรื่อยมา คนกลุ่มนี้เชื่อว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดเป็น​ “บาปส่วนตัว” (Personal Sin) ที่ทุกคนควรหลีกเลี่ยง หลายคนเชื่อว่าสุราคือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานหรือชนชั้นล่างต้องตกอยู่ในวงวนของความยากจน ความรุนแรง และปัญหาอาชญกรรมที่ไม่จบสิ้น หลายคนเชื่อว่าสุราคือต้นเหตุของปัญหามากมายในสังคม ทั้งการเสพติดสุรา อาชญากรรม อาการทางจิตประสาท ความยากจน ความรุนแรงในเด็กและสตรี



นอกจากนั้น ความคิดห้ามขายสุรายังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ผลิตชาและน้ำอัดลมซึ่งเชื่อว่าธุรกิจของตนจะได้รับผลประโยชน์มหาศาล หากเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ทุกชนิดหมดไปจากสหรัฐฯอีกด้วย




การเคลื่อนไหวกดดันทางการเมืองของผู้สนับสนุน Prohibition แพร่หลายอย่างกว้างขวางพร้อมกับประเด็นทางการเมืองอื่น​เช่น การเรียกร้องสิทธิสตรี ซึ่งนำมาสู่ความคิดที่ว่าการที่ (ยอมให้) ผู้ชายกินเหล้า มักเป็นสาเหตุของความรุนแรงและความเดือดร้อนอื่นๆที่เกิดขึ้นกับภรรยา (ผู้เป็นสตรี) ซึ่งท้ายสุดแล้ว แรงกดดันทางการเมืองของความคิด Prohibition ก็ทำให้เกิดการ “ปฏิรูป” โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการนี้โดยเฉพาะ



วันที่ 16 มกราคม 1919 - การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 18 (Eighteenth Amendment) กำหนดห้ามไม่ให้มีการขาย ผลิต ขนส่ง หรือจัดจำหน่ายเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทั่วทั้งประเทศ



9 เดือนหลังจากนั้น สภาคองเกรสได้ผ่านร่างกฏหมาย (ประกอบรัฐธรรมนูญที่แก้ไขไปแล้ว) ที่รู้จักกันในชื่อ Volstead Act โดยใช้อำนาจเหนือสิทธิคัดค้าน (Veto) ของประธานาธิบดี วู้ดโรว วิลสัน (Woodrow Wilson) กฏหมายฉบับนี้นับเป็นการเริ่มต้นยุคสมัยของการห้ามซื้อขายและผลิตเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มกราคม 1920 - สองปีก่อนที่ อัล คาโปน จะตัดสินใจย้ายไป​หา “โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ” ที่ชิคาโก



แม้จะมีผู้สนับสนุนในสังคมมากพอถึงขั้นที่สภาคองเกรสสามารถให้อำนาจเหนือสิทธิคัดค้านของประธานาธิบดีได้ แต่การ​ “บังคับใช้” กฏหมาย Prohibition กลับไม่สามารถทำได้สำเร็จในทางปฏิบัติและกลับสร้างปัญหาสังคมอื่นๆตามมาอีกมาก จนกลายเป็นข้อถกเถียงในสังคมสหรัฐในวงกว้าง



ในเวลานั้น ทุกประเทศรอบสหรัฐ (แคนาดา แม็กซิโก และประเทศในหมู่เกาะคาริบเบียน) สามารถผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างถูกกฏหมาย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งจากอานิสงของพลเมืองสหรัฐที่เดินทางเข้ามา “บริโภคแอลกอฮอล์” ภายในประเทศ และจากการผลิตเพื่อ​ส่งเข้าประเทศสหรัฐอย่างผิดกฏหมาย



“ลักลอบนำเข้าเหล้าเถื่อน” นี่เองที่เป็น “โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ” ในสายตาของชายหนุ่มวัย 22 ปีที่ชื่อ อัล คาโปน




แม้ “มาเฟีย” จะถือกำเนิดขึ้นในสังคมอเมริกันก่อนช่วงเวลา Prohibition หลายสิบปี แต่กิจกรรมนอกกฏหมายของแก๊งมาเฟียในช่วงแรกมักมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการพนัน ข่มขู่กรรโชกทรัพย์ หรือการจี้ปล้นเท่านั้น



จนกระทั่งเมื่อสหรัฐเข้าสู่ยุค Prohibition ในปี 1920 การลักลอบขาย “เหล้าเถื่อน” กลายเป็นช่องทางที่สามารถทำกำไรมหาศาลให้กับเหล่าผู้มีบารมีนอกกฏหมาย จำนวนประชากรมาเฟียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พวกเขาแผ่ขยายอาณาเขตออกไปยังหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ความรุนแรง อาชญากรรม และปัญหาสังคมอีกมากมายเกิดตามมาเป็นลูกโซ่



และเมื่อเป็นของเถื่อน ทำให้สุราชนิด “แรงพิเศษ” กลับได้รับความนิยมแพร่หลายในสังคมมากขึ้นกว่าเดิมเพราะมันสามารถทำ “กำไร” ได้มากกว่าเมื่อเทียบกับการลักลอบขนส่งหนึ่งครั้ง ผลลัพธ์คือนักดื่มเมาหนักขึ้น สุขภาพก็เสื่อมโทรมเร็วกว่าแต่ก่อน



นอกจากจะเป็นช่องทางทำเงินให้กับเหล่ามาเฟียแล้ว เหล้าเถื่อนยังเป็นช่องทาง “ทำเงินนอกระบบ” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอีกด้วย ทำให้ต้นทุนที่รัฐบาลสหรัฐต้อง​ “จ่าย” เพื่อบังคับใช้กฏหมายห้ามขายเหล้านั้นสูงกว่าปกติมาก เช่น ต้องจ้างคนที่เก่งขึ้น จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัยมากขึ้น ตั้งหน่วยสอบสวนพิเศษมากมาย ตั้งหน่วยงานตรวจสอบภายในองค์กร จัดซื้ออาวุธที่มากขึ้น ฯลฯ​ ในขณะที่รายรับจากภาษีสุราหดหายไป (ประเมินกันว่ารายได้จากภาษีหายไปถึงปีละกว่า 500 ล้านเหรียญ)


หลักฐานความเกี่ยวพันกันระหว่าง Prohibition กับมาเฟียปรากฏชัดเมื่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิก Prohibition เกิดขึ้นในปี 1933 รายได้ขององค์กรมาเฟียทั่วประเทศหดหายไปเกือบหมด เพราะกำไรมหาศาลที่ได้จากการขายเหล้าเถื่อนได้หมดไป พร้อมกับการวางขายสุราถูกกฏหมายในราคาถูกที่หาซื้อได้ตามร้านค้าบนท้องถนน



แม้จะมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้จำนวนมาเฟียลดลงในภายหลัง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการหดหายไปของ​ “กำไรมหาศาล” จากการค้าเหล้าเถื่อน ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งอย่างแน่นอน



บุคคลสำคัญหลายคนผู้เคยสนับสนุนความคิด Prohibition ได้ออกมายอมรับต่อสาธารณะชนว่าความคิด “ห้ามบริโภคสุรา” ของตนเองนั้นเป็นความผิดพลาด



จอห์น ร็อกกี้เฟลเลอร์ จูเนียร์ (John D. Rockefeller, Jr.) มหาเศรษฐีผู้ไม่เคยดื่มสุราเลยทั้งชีวิต และเป็นผู้สนับสนุนเงินมหาศาลให้กับขบวนการ Prohibition ได้ออกมากล่าวยอมรับต่อสาธารณะชนว่ามีปัญหาสังคมมากมายเกิดขึ้นจาก Prohibition โดยที่เขาไม่ได้คาดคิดมาก่อน เขาประกาศ “กลับใจ” มาสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิก Prohibition ในเวลาต่อมา ดังเห็นได้จากส่วนหนึ่งของจดหมายที่เขาเขียนขึ้นในปี 1932 ใจความว่า;



“เมื่อมีเริ่มมีแนวคิดการห้ามบริโภคสุราเกิดขึ้น ผมหวังว่ามันจะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากสาธารณะชน แล้ววันที่ผู้คนจะสำนึกถึงผลร้ายของแอลกอฮอล์ก็จะมาถึงโดยเร็ว แต่ผมกลับค่อยๆได้เรียนรู้ว่านั่นไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง ในทางกลับกัน การดื่มสุรากลับเพิ่มมากขึ้น โรงเหล้าเถื่อนเกิดขึ้นแทนที่ผับบาร์ กองทัพอันใหญ่โตของคนนอกกฏหมายกำเนิดขึ้น พลเมืองที่เป็นคนดีเยี่ยมของสังคมเราหลายคนประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าไม่สนใจกฏหมาย​ (ห้ามบริโภคสุรา) ฉบับนี้ กฏหมายไม่ได้รับความเคารพจากผู้คนเหมือนเคย และอาชญกรรมกลับเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”



When Prohibition was introduced, I hoped that it would be widely supported by public opinion and the day would soon come when the evil effects of alcohol would be recognized. I have slowly and reluctantly come to believe that this has not been the result. Instead, drinking has generally increased; the speakeasy has replaced the saloon; a vast army of lawbreakers has appeared; many of our best citizens have openly ignored Prohibition; respect for the law has been greatly lessened; and crime has increased to a level never seen before



ด้วยเหตุวุ่นวายและ “รายจ่ายทางสังคม” มากมายนี้ ทำให้กระบวนการ Prohibition สิ้นสุดลงด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 21 ในปี 1933 (Repeal) นับเป็นการสิ้นสุดยุค Prohibition ในสหรัฐอย่างเป็นทางการ



ประธานาธิบดี แฟรงก์คลิน รูสเวลท์ (Franklin Roosevelt) ได้กล่าวติดตลกในวันลงนามว่า



“ผมคิดว่านี่เป็นเวลาที่ดีสำหรับเบียร์สักขวด”

(I think this would be a good time for a beer.)





…………………





ด้วยนิยามที่พื้นฐานที่สุด - ตลาด - หมายถึงพื้นที่ใดๆก็ตามที่มนุษย์มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการไปมาระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางกายภาพอย่างตลาดสดประจำอำเภอหรือพื้นที่บนโลกไซเบอร์อย่างอีเบย์ ไม่ว่าจะถูกกฏหมายเหมือนตลาดหลักทรัพย์ หรือผิดกฏหมายอย่างการขายบริการทางเพศผ่านอินเตอร์เนต



สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เกิด​ “ตลาด” จึงไม่ได้อยู่ที่ขนาดของหน้าร้าน หรือสภาพทางกฏหมายที่ได้รับการรับรองโดยรัฐ หากแต่อยู่ที่ “ความต้องการแลกเปลี่ยน” ของมนุษย์ในสังคมนั้นๆ



ว่ากันโดยหลักการ ความต้องการ (Demand) และสิ่งที่จะนำมาแลกเปลี่ยน (Supply) จึงเป็นเพียงสองสิ่ง สำคัญที่จะทำให้เกิดตลาดขึ้น นั่นหมายความในทางกลับกันว่า ตลาดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ เพียงแค่มีความต้องการ (และสิ่งของ) ที่จะแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ไม่จำเป็นต้องมีีพื้นที่หน้าร้านเพื่อเดินชมสินค้า หรือไม่จำเป็นต้องมีกฏหมายมาประทับรับรอง



ช่วงเวลา Prohibition อาจนับได้ว่าเป็นตัวอย่างของช่วงเวลาที่รัฐพยายามเอาพลังทางการเมืองและกฏหมายเข้ามาบังคับใช้กับ “ตลาดเสรี”



แม้รัฐไม่ต้องการให้มี “ตลาด” ซื้อขายเหล้าสุราเกิดขึ้น แต่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเมื่อใดที่ “กฏหมาย” ไม่สอดคล้องกับสภาวะความต้องการที่แท้จริงของสังคม การบังคับใช้กฏหมายจะเป็นไปได้อย่างยากลำบาก มีต้นทุนทางสังคมที่สูงมาก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหากพลังของตลาดมีมากพอ ก็จะทำให้เกิดสภาวะ “ตลาดมืด” (Black Market) หรือเศรษฐกิจนอกระบบ (Underground Economy)



ตลาดมืด คือตลาดที่ซื้อขายสินค้าอย่างผิดกฏหมาย หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือพื้นที่ที่ “มือที่มองไม่เห็น” ยังคงทำงานได้ดี โดย “มือของกฏหมาย” ไม่สามารถเอิ้อมไปสู้รบได้อย่างมีประสิทธิผล (Effective)



ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิด “ตลาดมืด” ขึ้นได้คือ “กำไรในระดับมหาศาล” หรือพูดให้เป็นภาษาเศรษฐศาสตร์ก็คือ เมื่อกำไรที่ได้จากตลาดมืดสูงกว่าต้นทุนสินค้าบวกกับความเสี่ยงที่ต้องหลบหนีจากเงื้อมมือของกฏหมาย ย่อมเกิดแรงจูงใจให้ผู้คน​รู้สึก “คุ้มที่จะเสี่ยง” ฝ่าฝืนกฏหมาย



ในกรณีของสุรา – ทราบกันดีว่ามันคือน้ำอมฤตที่ใครหลายคนเชื่อว่ามันคือของขวัญที่พระเจ้าประทานให้แก่มนุษย์ มนุษย์เราดื่มสุราและของมึนเมากันในทุกวัฒนธรรม พวกเรารู้จักสุราพร้อมๆกับการหุงหาอาหาร เรารู้จักสุราก่อนรู้จักมีด ดาบ สงคราม หรือกระทั่งศาสนา



ดังนั้นจึงไม่ต้องปฏิเสธว่า “ความต้องการสุรา” มีอยู่ในสังคมมนุษย์มากเพียงใด และความพยายาม “ห้าม” ขายสุราจึงย่อมหมายถึงการปฏิเสธความต้องการที่มีพลังมหาศาลของตลาด



เมื่ออุปสงค์ปริมาณมหาศาลไม่ได้รับการตอบสนอง นั่นหมายถึง “โอกาสทางธุรกิจ” ที่จะทำกำไรมหาศาลสำหรับ “ใครสักคน” ที่สามารถสนองความต้องการของตลาดได้ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฏหมาย และไม่ว่าจะบนดินหรือใต้ดิน เพราะเมื่ออยู่ในตลาด น้อยคนนักจะสนใจว่าสินค้าที่ตนซื้อหามาบริโภคนั้นมากจากไหน ถูกผิดอย่างไร เพราะโดยส่วนใหญ่ความผิด (หรือบาป) ก็มักตกอยู่กับผู้ผลิต ไม่ใช่ผู้บริโภค (ตัวอย่างล่าสุดของรากฐานความคิด “คนขายต้องรับผิดชอบ” แบบนี้ ดูได้จากกรณี “ซับไพร์ม” ที่กำลังโด่งดัง)




ธุรกิจเหล้าเถื่อนในช่วง Prohibition เป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล กำไรอันมากมายนี้มีพียงพอให้ อัล คาโปน นำไปใช้จ่ายในทาง “การเมือง" ได้ในวงกว้าง ไม่ว่าจะจ่ายเลี้ยงดูลูกน้อง ดูแลตำรวจ สนับสนุนนักการเมือง หรือกระทั่งเอาใจผู้พิพากษา



ดังนั้น จึงไม่เกินไปนักที่จะกล่าวว่า อัล คาโปน ถือกำเนิดขึ้นมาได้เพราะ “โอกาสทางธุรกิจ” ที่เกิดจากยุค Prohibition เขาสร้างอาณาจักรมาเฟียอันยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้เพราะกำไรจากตลาดมืด ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากความพยายามปฏิเสธพลังของตลาดสุราที่มีอยู่จริงในสังคม ไม่ว่ากฏหมายจะรับรองหรือไม่ก็ตาม



และก็เป็นกำไรมหาศาลจากตลาดมืดนี้เช่นกัน ที่ทำให้ “ต้นทุนการบังคับใช้กฏหมาย” มีสูงมากเสียจนไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ (อย่างน้อยโดยตรรกะ เราก็ต้องจ่ายเงินให้ตำรวจมากกว่าสินบนที่ อัล คาโปน สามารถจ่ายได้) นอกจากนั้นยังก่อให้เกิด “ต้นทุนทางสังคม” ที่ไม่สามารถคิดเป็นตัวเงินได้เช่น ความศักดิ์สิทธิของกฏหมายและหลักนิติรัฐ อาชญากรรมต่อเนื่อง ความสงบเรียบร้อยในสังคม ฯลฯ



เราอาจกล่าวได้ว่า การปฏิเสธความต้องการพื้นฐานของสังคมส่วนใหญ่นั้นไม่อาจทำอย่าง​ “หักดิบ” ด้วยอำนาจเพียงอย่างเดียวเพราะจะเป็นการเปิดช่องให้เกิด “ตลาดมืด” ขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดตลาดมืดขึ้นแล้ว หากผู้ขายสามารถทำกำไรจากตลาดมืดได้สูงมากพอ การบังคับใช้กฏหมายเพื่อให้ตลาดมืดหมดไปก็แทบจะทำให้สำเร็จไม่ได้เอาเสียเลย



หลักฐานของความยากลำบากในการกำจัดตลาดมืดให้หมดไปอาจอยู่ที่จุดจบของ อัล คาโปน นั่นเอง เพราะท้ายสุดแล้วเขาไม่ได้ถูกจับหรือดำเนินคดีในฐานะอาชญากรหรือกระทั่งผู้ขายเหล้าเถื่อน แต่เขาถูกดำเนินคดีในฐาน​ “เลี่ยงภาษี”



หลายคนอาจสงสัยว่ากรณี Prohibition นี้ต่างอะไรกับกรณี “ตลาดยาเสพติด” อย่างเฮโรอีน หรือโคเคน เพราะยาเสพติดก็เป็นสิ่งที่กฏหมาย “ห้าม” ไม่ให้มีอยู่ในตลาดเสรีเช่นเดียวกัน



สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนก็คือปริมาณความต้องการของตลาดที่มีไม่เท่ากัน ผู้คนที่บริโภคสุรามีจำนวนมากกว่าผู้คนที่เสพยาเสพติดอย่างเทียบกันไม่ได้ ทำให้ “กำไร” ที่ผู้ขายสามารถทำได้จากตลาดมืด ยังไม่สูงมากพอที่จะเอาชนะพลังของกฏหมายได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนกรณีของเหล้าเถื่อนและ อัล คาโปน พูดให้ง่ายก็คือ กำไรจากโคเคน ยังไม่มากพอที่จะ “จ่าย” ให้ทุกคนในสังคมวงกว้างอย่างเช่นกำไรที่ได้จากเหล้าเถื่อนในยุค Prohibition



การ “หักดิบ” ยาเสพติดด้วยการประกาศให้เป็นสิ่งผิดกฏหมาย จึงยังสามารถทำได้ และบังคับใช้ได้จริง (บ้าง) โดยไม่มีต้นทุนทางสังคมที่สูงเกินไปนัก ตราบใดที่ความต้องการยาเสพติดยังไม่แพร่หลายจนทำให้กำไรจากตลาดมืดสูงมากเกินไปเช่นในกรณีของเหล้าเถื่อน





…………………





บทเรียนจาก Prohibition สอนให้สังคมอเมริกันได้รู้ว่านอกจากพลังทางการเมืองและอำนาจทางกฏหมายแล้ว การบังคับใช้กฏหมายสักฉบับหนึ่งในสำเร็จผลนั้นยังมี “ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์” แฝงอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมต้องการปฏิเสธความต้องการของตลาด สังคมควรพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิด “ตลาดมืด” และผลลัพธ์อื่นๆให้ดีในภาพรวม



นอกจากนั้น สังคมอเมริกันยังได้เรียนรู้ด้วยว่า​ “ศีลธรรม” ไม่อาจเป็นเครื่องนำทางของรัฐ เพราะศีลธรรมอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ยิ่งกว่านั้น เราไม่สามารถสร้าง “ศีลธรรมที่ดี” ให้เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้อำนาจบังคับ และรัฐไม่มีหน้าที่ไปกำหนดหรือกำกับศีลธรรมของพลเมือง หากแต่ควรกำกับเพียง “การกระทำ” ของพลเมืองให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติ ไม่เบียดเบียนกันและกันเท่านั้น



ส่วนใครจะเชื่อว่าอะไรคือ “ความดี” – ก็เป็นเจตจำนงเสรีของใครของมัน



เป็นที่น่าสังเกตว่าสังคม “เสรีนิยม” ยุคใหม่ มักเปิดให้กลไกตลาดได้ทำงานของมันไปตามธรรมชาติและเลือกที่จะออกกฏเกณฑ์มา “กำกับ” ทิศทางของตลาดมากกว่าที่จะปฏิเสธมันไปเสียโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจเดาได้ว่าเป็นเพราะพวกเขาเรียนรู้แล้วว่าการจะควบคุมอะไรสักอย่าง ย่อมทำได้ง่ายกว่าเมื่อสิ่งนั้นอยู่ “บนดิน”



ในสังคมที่หลักแหลมมากกว่านั้น มักมีกฏเกณฑ์อีกหลายอย่างที่ “บิด” เอา “พลังของมือที่มองไม่เห็น” มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่ตนเองต้องการ เช่น สร้างแรงจูงใจทางธุรกิจ สร้างส่วนต่างด้านภาระภาษี กำหนดกติการการแข่งขันที่ยุติธรรม ฯลฯ โดยไม่ต้องใช้อำนาจ “ดิบ” ไปสั่ง บังคับ หรือ ห้าม



สังคมที่ไม่รู้จักพลังของตลาดย่อมพร้อมที่จะสร้างเงื่อนไขคำว่า “ห้าม” ขึ้นเสมอโดยไม่สนใจว่าจะสามารถปฏิเสธมันได้ในโลกของความเป็นจริงหรือไม่ และต้องมีต้นทุนทางสังคมอะไรบ้าง



ยิ่งไปกว่านั้น ในบางสังคมกลับยอมให้มีตลาดมืด ยอมให้ระบบกฏหมายเป็นเพียงเครื่องมือหาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ และยอมให้สังคมแบกรับ “ต้นทุน” ทางสังคมกันไปเรื่อยๆในระยะยาว เพียงเพราะพวกเขาไม่อาจยอมให้เรื่องบางเรื่องขึ้นมาอยู่ “บนดิน” ได้



ในบางสังคมที่ “ศีลธรรม” ยังเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาในที่สว่าง จึงไม่อาจยอมให้สิ่งไร้ศีลธรรมออกจากที่มืดได้ ไม่ว่าจะพวกเขาจะนิยมสิ่งเหล่านั้นแค่ไหนก็ตาม



ดังเช่นในคำพังเพยของไทย ที่เราเรียกลักษณะเช่นนี้ว่า - ปากว่า ตาขยิบ


http://www.onopen.com/sarujt/09-04-20/4725

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น